ประวัติสุพรรณหงส์

     
      รางวัล "สุพรรณหงส์" รางวัลสำหรับบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทย มีอายุยาวนานกว่า 30 ปี โดย สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ร่วมมือกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมาคมนักประชาสัมพันธ์ และองค์กรอื่นๆ ในแวดวงบันเทิงและสื่อสาร จัดพิธีประกาศผล "รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ" ครั้งที่ 1 สำหรับการตัดสินรางวัลภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2521 และ 2522 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2522 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร และจัดต่อมาอีก 6 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 7 ในปี 2531
 
      วงการภาพยนตร์ไทยไม่ได้จัดการประกวดและมอบรางวัลสำหรับภาพยนตร์ไทยอยู่ประมาณ 3 ปี จึงได้กลับมาจัดใหม่อีกครั้ง ภายใต้ชื่อ "รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ" โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (หน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี) และกรมประชาสัมพันธ์ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ตัวรางวัลเป็นสัญลักษณ์ "ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว" ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สร้างผลงานภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม และชนะเลิศในแต่ละประเภทรางวัล จนเป็นดาวดวงเด่นของปี
 
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และพระราชทานรางวัลในพิธีประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติครั้งแรก ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 25 มกราคม 2535
 
     รางวัลสัญลักษณ์ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว ถูกใช้จนกระทั้งในการประกาศผลรางวัลสำหรับผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2542 และเปลี่ยนเป็นรางวัลสุพรรณหงส์ โดยสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ในวาระการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 44 พ.ศ. 2542 ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง "นางนาก" กลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งรางวัลสัญลักษณ์ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว จากงานประกวดภาพยนตร์แห่งชาติประจำปี 2542 และรางวัลสุพรรณหงส์ จากงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก
 
      ในปี พ.ศ. 2544 สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ไม่ได้จัดงานประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2543 มีจำนวนค่อนข้างน้อย สมาคมสมาพันธ์ฯ จึงจัดเพียงงานมอบรางวัลพิเศษ ในวันที่ 4 เมษายน 2544
 
      งานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 สำหรับผลงานภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2543 และ 2544 รวมกัน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่องานว่า "การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์" ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ใช้ต่อมาจนปัจจุบัน
 
Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy